เซอร์จอห์น เบาว์ริง (อังกฤษ: Sir John Bowring) (17 ตุลาคม พ.ศ. 2335 – 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2415) เป็นเจ้าเมืองฮ่องกง (ค.ศ. 1848-1857) พ่อค้า นักการทูต นักเศรษฐศาสตร์การเมือง นักการศาสนา นักแต่งเพลงสวด กวี นักประพันธ์ บรรณาธิการ และนักภาษาศาสตร์ (โดยรู้ถึง 10 ภาษาหลัก ๆ ทั้งหมด ในยุโรป รวมทั้งภาษาจีน)[ต้องการอ้างอิง] ตลอดจนถึงเป็นราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ เพื่อเข้ามาเจริญพระราชไมตรีและเจรจาทำสนธิสัญญากับราชสำนักไทย ในปี พ.ศ. 2398 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่สุดก็มีการลงนามในสนธิสัญญาเบาริง เมื่อวันที่ 18 เมษายนปีเดียวกัน
สนธิสัญญาฉบับนี้มีผลให้สยามต้องเสียอำนาจอธิปไตยทางการศาลและคนในบังคับอังกฤษมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสยาม นอกจากนี้ สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศ ถือเป็นการสิ้นสุดของการผูกขาดการค้ากับต่างประเทศโดยกรมพระคลังสินค้าของสยาม สนธิสัญญานี้มีผลใช้บังคับอยู่นานกว่า 70 ปี
ท้ายที่สุดสมัยปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนและทวีปยุโรป ถือได้ว่าเป็น “ตัวแทนประจำคนแรกของไทย” ก็ว่าได้[ต้องการอ้างอิง] มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ”
เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เกิดที่นครเอ็กซิเตอร์ มณฑลเดวอน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส เป็นเด็กฉลาดหลักแหลม เรียนเก่ง เขาสามารถพูดได้ถึง 10 ภาษาหลัก ๆ ในทวีปยุโรปทั้งหมดรวมถึงจีนกลาง เริ่มเขียนบทความลงใน "Westminster Review” นิตยสารวิเคราะห์เศรษฐกิจ ต่อมาในปี 2368 ได้ขึ้นเป็นบรรณาธิการ และได้ย้ายไปเนเธอร์แลนด์เรียนจบนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Laws) จากมหาวิทยาลัยกรอนิงเกน (University of Groningen) ต่อมาได้เป็นสมาชิกของสภา Kilmarnock Burghs จากนั้นได้รับการแต่งตั้งไปเจรจาทางการค้ากับฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ซีเรีย และเยอรมัน ซึ่งต่อมาได้เป็นตัวแทน การเจรจาทางการค้ากับจีนที่เมืองกวางจูในปี 2392 หลังจากนั้นอีก 5 ปี ก็ขึ้นเป็นข้าหลวงอังกฤษประจำฮ่องกง เมื่อฮ่องกงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หลังจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง และได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองฮ่องกง ในปี 2398
เบาว์ริงได้เชิญพระราชสาสน์ในสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับสยาม สัญญาฉบับนั้นคือ "สนธิสัญญาเบาว์ริง” เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2398 ซึ่งเป็นผลทำให้สยามต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล และมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และทำให้เกิดการค้าเสรีถือเป็นการสิ้นสุดของการผูกขาดการค้าต่างประเทศ โดยพระคลังสินค้าของสยาม
ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 เบาว์ริง ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน และทวีปยุโรป มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ” ต่อมาในปี พ.ศ. 2404 เบาว์ริงย้ายไปเป็นตัวแทนทางการค้าที่อิตาลี และอีกหลายประเทศในยุโรป เบาว์ริงเสียชีวิตเมือวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2415
สนธิสัญญาเบาว์ริง ว่าด้วย “การค้าเสรี” อันเป็น “ระเบียบใหม่” ของโลกในยุคลัทธิจักรวรรดินิยม อาณานิคมตะวันตก ลงนามกันระหว่างอังกฤษและสยามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ในสมัยนายกรัฐมนตรี เฮนรี จอห์น เทมเพิล ไวเคานท์พาลเมอร์สตันที่ 3 รัฐบาลในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และราชอาณาจักรสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สนธิสัญญานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งและใช้บังคับอยู่เป็นเวลา ถึง 70 กว่าปี จนกระทั่งมีการแก้ไขค่อยๆยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ. 2461 (1918) แต่กว่าจะสิ้นสุดสมบูรณ์ ก็ล่วงมาถึงในปี พ.ศ. 2482 (1938) ในรัฐบาล จอมพล ป พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการแก้ไขและลงนามในสนธิสัญญาใหม่กับประเทศตะวันตก (และญี่ปุ่น) ใหม่ทั้งหมด